Trip Loei

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อาชีพ ผู้สอบบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี


        วิชาชีพด้านการสอบบัญชีจาก จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี 2547 จึงเป็นผลให้ต้องยกเลิกพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว คือ คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (ก.บช.) ที่ทำหน้าที่ทดสอบขึ้นทะเบียน ควบคุมจรรยาบรรณผู้สอบบัญชี ต้องยกเลิกไปด้วย ดังนั้น งานทุกด้านที่เกี่ยวกับผู้สอบบัญชีตามกฎหมายเดิมจึงเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้สภาวิชาชีพบัญชีตามบทบัญญัติของกฎหมายใหม่

        การประกอบวิชาชีพสอบบัญชีภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ได้ จะต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี และได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งใบอนุญาตที่ออกโดยสภาวิชาชีพบัญชีนั้นจะไม่มีอายุ แต่ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นรายปีปีละ 1,000 บาท โดยเริ่มนับจากวันที่สภาวิชาชีพบัญชีออกใบอนุญาตให้ และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมีหน้าที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง

         สำหรับผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 บังคับใช้ ให้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อไปจนกว่าใบอนุญาตเดิมจะสิ้นอายุ หรือถูกเพิกถอน

        นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี นิติบุคคลที่ให้บริการด้านสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี จะต้อง จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีโดยมีเงื่อนไขว่าต้องจัดให้มีหลักประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม ตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และกรณีที่เป็นการให้บริการ การสอบบัญชี บุคคลซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลได้ต้องผู้สอบบัญชีรับอนุญาตด้วย การกำหนดหลักประกันนั้นกฎหมายให้คำนึงถึงขนาดและรายได้ของนิติบุคคลนั้นเป็นหลักและให้คำนึงถึงความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสภาวิชาชีพบัญชีมาพิจารณา ประกอบก่อนที่จะออกกฎกระทรวง

        กรณีผู้สอบบัญชีต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม ให้นิติบุคคลร่วมรับผิดชอบโดยการเป็นลูกหนี้ร่วม หากไม่สามารถชำระค่าเสียหายให้หุ้นส่วนหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล หรือผู้แทนร่วมรับผิดจนครบจำนวนเว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือกระทำผิดที่ต้องรับผิด

นิยามอาชีพ
        ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องและความครบถ้วนของจำนวนเงินที่บันทึกลงในสมุดบัญชี รวมทั้งเอกสารทางการเงินของสถานประกอบการ สถาบันเอกชน หรือหน่วยงานรัฐบาล : ตรวจสอบรายการต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในสมุดและการโอนรายการ ต่าง ๆ เป็นไปโดยถูกต้อง ; ตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวนเงินที่รับมาและ จ่ายไป ตลอดจนหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย ; ตรวจสอบ ความถูกต้องครบถ้วนของใบสำคัญคู่จ่ายให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ คำสั่ง ระเบียบของหน่วยงานและระเบียบของราชการ มติคณะรัฐมนตรี และตามเงื่อนไขเงื่อนเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ;ตรวจสอบและให้คำแนะนำการดำเนินการด้านภาษี ;เสนอรายงานผลการตรวจสอบและเสนอแนะการจัดทำเอกสารทางการเงินต่าง ๆ
ลักษณะของงานที่ทำ
        ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องครบถ้วนของจำนวนเงินที่บันทึกลงในสมุดบัญชี รวมทั้งเอกสารทางการเงินของสถานประกอบกิจการ สถาบัน เอกชน หรือหน่วยงานรัฐบาล ตรวจรายการต่างๆ ที่บันทึกไว้ในสมุดบัญชี เช่น บัญชีประจำวัน หรือ บัญชีรายวันเพื่อให้เชื่อแน่ว่าการบันทึกจำนวนเงินและรายการต่างๆ ลงในสมุดบัญชีเป็นไปโดยถูกต้อง ตรวจสอบความถูกต้องของการโอนรายการต่างๆ จากบัญชีรายวันไปลงบัญชีแยกประเภท นับเงินสด และตรวจสอบยอดเงินในธนาคาร ตรวจสอบจำนวนเงินที่รับมา และจ่ายไปตลอดจนหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย ตรวจดูเช็คเงินสด เพื่อสอบยอดเงิน ลายเซ็น การขีดฆ่า และวันที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีเงินสด สอบรายการในบัญชีรายวัน และบัญชีแยกประเภทกับใบเสร็จจ่ายเงินสด ใบเสร็จซื้อของ และใบเสร็จแสดงค่าใช้จ่าย ตรวจสอบรายการสิ่งของ ตรวจสอบความถูกต้องของยอดเงิน อาจทำเอกสารทางการเงินให้แก่ลูกค้า เช่น เอกสารแสดงกำไรและขาดทุนและงบดุล อาจเตรียมรายงานแสดงรายการต่างๆ โดยละเอียด เช่น ต้นทุน สินทรัพย์ หนี้สิน ปริมาณการขายกำไรสุทธิ และค่าเสื่อม อาจควบคุมพนักงานบัญชีให้สอบบัญชีเป็นประจำ อาจคิดค้นและวางระบบกับวิธีการบัญชีขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะสถานประกอบกิจการ ซึ่งไม่อาจนำระบบการบัญชีมาตรฐานมาใช้ได้
สภาพการจ้างงาน
        ผู้ประกอบอาชีพนี้ที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทหรือองค์กรที่จ้างงานผู้ตรวจสอบบัญชี เนื่องจากผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้จะต้องมีประสบการณ์ในงานบัญชีมาบ้างจึงจะทำงานในตำแหน่งผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ที่ประกอบอาชีพนี้จะต้องมีคุณสมบัติตามที่ คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (ก.บช.) กำหนดไว้มีสิทธิที่จะสอบเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้ดังนั้นค่าตอบแทนจึงไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนตายตัว ค่าจ้างที่ได้รับโดยเฉลี่ยมี ดังนี้
วุฒิการศึกษา รายได้ (โดยเฉลี่ย)
รับราชการ งานเอกชน
ปริญญาตรี 7,500 12,000 – 18,000
ปริญญาโท 9,040 18,000 – 25,000
        นอกจากค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแล้วในภาครัฐจะได้รับสวัสดิการตามระเบียบของทางราชการส่วนในภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนอาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่าง ๆ เงินโบนัส ค่าล่วงเวลา เป็นต้น ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ มีชั่วโมงทำงานโดยปกติวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40 - 48 ชั่วโมง อาจต้องทำงานล่วงเวลา เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนในการตรวจสอบบัญชีให้เสร็จตามกำหนดเวลา และอาจต้องทำงานในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และ วันหยุด เมื่อมีความจำเป็น
สภาพการทำงาน
        ผู้ตรวจสอบบัญชี ทำงานในสถานที่ทำงานที่มีสภาพการทำงานเป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไป ในการทำงานจะต้องใช้เครื่องคิดเลข หรืออาจจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ช่วยงานบันทึกรายการและการทำบัญชีในรูปต่างๆ ในการ ตรวจสอบบัญชี แต่ละครั้งจะต้องทำงานอยู่กับ เอกสารทางบัญชี อาจจะต้องค้น สลิป รายการบัญชีที่สงสัย หรือมีปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจดู รายการที่น่าสงสัยหรือมีข้อผิดพลาด ผู้ตรวจสอบบัญชี จาก บริษัทรับตรวจบัญชี มีหน้าที่ ตรวจสอบบัญชี บริษัทลูกค้าบางรายอาจจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในห้องหรือบริเวณที่ลูกค้าจัดเตรียมไว้ให้อาจจะต้องทำงานเป็นเวลา 1- 4 สัปดาห์ในบริษัทของลูกค้าขึ้นอยู่กับลักษณะงานของบริษัทนั้น บางครั้งต้องทำการตรวจสอบเอกสารทางบัญชี ซึ่งต้องตรวจเอกสารทำรายการบัญชีที่ผ่านมาในช่วง 1 ปี ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยใน การตรวจสอบบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี จากบริษัท รับตรวจสอบบัญชี มักจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ เพื่อใช้ช่วยในการทำงาน เช่น การบันทึกบัญชี ลูกค้าเพื่อการตรวจสอบ ซึ่งอาจใช้โปรแกรมสำหรับการตรวจสอบหรือการเขียน รายงานการตรวจสอบบัญชี
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
ผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
        - ต้องมีคุณวุฒิ ปริญญาตรีทางการบัญชี บริหารธุรกิจ สาขาวิชาบัญชี หรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาซึ่งทบวงมหาวิทยาลัย หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือกระทรวงศึกษาธิการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี
        - เมื่อทำงานจนมีความพร้อม และคุณสมบัติตามที่ กบช. กำหนดไว้ก็มีสิทธิที่จะสอบเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้
        - มีความซื่อสัตย์ในหน้าที่เนื่องจากทำงานเกี่ยวกับการเงิน
        - มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพในการนำเสนอข้อมูลทางบัญชีที่เชื่อถือได้ถูกต้อง รวดเร็วและมีประโยชน์อย่างแท้จริงในการตัดสินใจ
        - มีความรอบคอบ วิจารณญาณ เพื่อพิจารณาหาหลักปฏิบัติที่เหมาะสม และส่งผลกระทบในด้านลบให้น้อยที่สุดแก่หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
        - รับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง และให้ความร่วมมือในการพัฒนา วิชาชีพ และสังคม
        - สามารถใช้คอมพิวเตอร์ มีประสบการณ์ในด้านโปรแกรมระบบงานบัญชี
        - มีความรู้ภาษาอังกฤษตามสมควร มีความรู้ระบบภาษีของไทย
        ผู้ที่จะประกอบอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชีควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ : ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สาขาวิทยาศาสตร์หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ และสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาใน คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี หรือ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันราชภัฎ หรือ สถานศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย หลักสูตรการศึกษา 4 ปี หรือสำเร็จการศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้วศึกษาต่อระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี ประเภทวิชาการบัญชี วิชาการบริหารธุรกิจ สาขาวิชาบัญชี ในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหรือสถาบันราชภัฎ และศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี ในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี และรับโอนหน่วยกิตของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปวส. เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาบัญชี ที่ต้องการเป็น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ต้องฝึกงานเป็นเวลาต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 ปีบริบูรณ์ และมีเวลาฝึกหัดงานไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมง โดยต้องแจ้ง การฝึกหัดงานสอบบัญชี ต่อสำนักงาน ก.บช. ก่อน เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกำหนดของ ก.บช. สามารถเข้ารับการทดสอบเมื่อผ่านการทดสอบก็จะได้รับใบอนุญาตเป็น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ของ ก.บช.ผู้ที่มีความสามารถในการเป็น ผู้ตรวจสอบบัญชี สามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานประกอบการ สถาบันเอกชน หรือการประกอบธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากการดำเนินธุรกิจเกือบทุกด้านจำเป็นต้องมี การตรวจสอบบัญชี ขององค์กร เพื่อนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขั้นแรกอาจจะเป็น ผู้ทำบัญชี หรือ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน และเลื่อนขั้นมาเป็น ผู้ตรวจสอบบัญชี เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน และสามารถสอบผ่านตามกฎเกณฑ์ของ ก.บช. ก็จะเป็น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สามารถลงนามรับรองการตรวจบัญชีของหน่วยงานได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น